เมื่อไตเริ่มวายผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นผู้ป่วยจะปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยขึ้นเนื่องจากไตไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับ นอกจากปัสสาวะตอนกลางคืนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี นอกจากนี้ยังมีอาการตามระบบต่างๆดังนี้
1. ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ [ neuromuscular] จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ปลายเท้าปลายมือชาเนื่องจากปลายประสาทอักเสบ [peripheral neuropathy ] เป็นตะคริว และชัก
2. ระบบทางเดินอาหาร [gastrointestinal] เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เป็นอาการที่พบที่พบทุกราย ถ้าไตวายมากขึ้นบางรายมีเลือดออกทางเดินอาหาร
3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด [ cardiovascular ] ถ้าไตวายมากมีการคั่งของเกลือและน้ำจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง มีอาการบวมเนื่องจากหัวใจวาย บางรายมีอาการมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ [ pericarditis ]
4. ผิวหนัง มีอาการคัน ผิวจะมีสีเหลือง-น้ำตาล
การรักษาโรคไต
การรักษาต้องรักษาปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น เช่น ภาวะขาดน้ำ ยาที่มีพิษต่อไต หัวใจวาย การติดเชื้อ หลักการรักษาไตวายประกอบด้วย
1. การควบคุมอาหารสำหรับโรคไต
2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
3. การล้างไตผ่านทางท้อง
4. การเปลี่ยนไต
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม Hemodialysis
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการนำเลือดผ่านเข้าเครื่องไตเทียมผ่านไปยังเยื่อ Hemodialyzer ซึ่งเป็น semipermeable membrane ซึ่งจะกรองเอาของเสียออก เลือดที่ผ่านการกรองก็จะกลับเข้าสู่เครื่องไตเทียม และเข้าสู่ร่างกาย ทำให้กำจัดของเสีย คุมความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ และรักษาระดับความดันให้ปกติ
การเตรียมการก่อนฟอกเลือด
ก่อนฟอกเลือดจะต้องมีการนำเลือดจากหลอดเลือดมาฟอกโดยทำได้ 2 วิธี
* ใช้เข็มเจาะเข้าหลอดเลือดที่หลอดเลือดบริเวณคด และหลอดเลือดขาหนีบ วิธีนี้ใช้ฟอกเลือดได้ 2-6 สัปดาห์
* วิธีที่สองเป็นการต่อหลอดเลือดแดง และดำ [arteriovenous [ A-V] fistular ]หลังต่อหลอดเลือดดำจะพองและขยายทำให้สามารถใช้เข็มเจาะเอาเลือดไปฟอกได้ วิธีนี้เป็นวิธีการถาวรแต่ต้องใช้เวลาให้หลอดเลือดดำพองตัว
ขณะฟอกท่านสามารถอ่านหนังสือหรือรับประทานอาหารได้ ใช้เวลาฟอก 2-4 ชั่วโมง อาทิตย์ละ2-3 ครั้ง
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
พบได้บ่อยคือ ความดันโลหิตต่ำ อาจเกิดจากผู้ป่วยกินยาลดความดันโลหิตก่อนฟอกและตะคริว เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่เร็วเกินไป ใช้เวลาในการปรับตัวหลายเดือน โรคแทรกซ้อนที่พบได้น้อยได้แก่ ไข้ เลือดออกทางเดินอาหาร คัน นอนไม่หลับเป็นต้น
ข้อห้ามการฟอกเลือดคือ ความดันโลหิตต่ำ และเลือดออก
ข้อปฏิบัติก่อนการฟอกเลือด
1. ควรงดรับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนฟอก 4-6 ชั่วโมง
2. ถ้ามีการเสียเลือดมาก เช่นมีประจำเดือน อุจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ให้แจ้งแพทย์ก่อนฟอกเลือดทุกครั้ง
การปฏิบัติตนขณะฟอกเลือด
1. แขนข้างที่กำลังฟอกให้อยู่นิ่งๆ
2. เตรียมอาหารมารับประทานขณะฟอกเลือด
3. ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น ขณะฟอกให้แจ้งพยาบาลผู้ดูแลทันที
ข้อควรปฏิบัติหลังฟอกเลือด
* หลังการฟอกเลือดใหม่จะมีการห้ามเลือดโดยใช้พลาสเตอร์หรือผ้ากอซปิด เมื่อเลือดหยุดจึงเอาผ้าก๊อซออกและติดพลาสเตอร์
* รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
* รับประทานอาหารตามคำแนะนำดังกล่าวมาแล้ว
* ชั่งน้ำหนักทุกวัน โดยควบคุมมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กก.
* หลังการฟอกเลือดให้ระวังการถูกกระแทกแรงๆเพราะจะทำให้เกิดช้ำได้
การรับประทานอาหาร
1. ให้รับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา แทนจากถั่วและผัก
2. เลือกอาหารที่มีโพแทสเซียมไม่สูงไม่ต่ำเนื่องจากสูงหรือต่ำไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อหัวใจ
3. จำกัดน้ำดื่มมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กิโลกรัม
4. งดอาหารเค็ม
5. งดอาหารที่มี phosphate สูงดังกล่าวข้างต้น
การล้างไตผ่านทางท้อง
หลักการฟอกไตวิธีนี้คือการใส่สายเข้าไปในช่องท้อง แล้วใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วจึงปล่อยออก การฟอกมีด้วยกันหลายวิธี เช่น
* Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis (CAPD)
* Continuous Cyclic Peritoneal Dialysis (CCPD)
* Intermittent Peritoneal Dialysis (IPD)
ระยะเวลาในการฟอกขึ้นกับวิธีการฟอก เช่น (CAPD) ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ,(CCPD)ใช้เวลา 12 ชั่วโมง
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ช่องท้องอักเสบ ป้องกันโดยทำการล้างท้องแบบปราศจากเชื้อ
การดูแลหลังสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง
เนื่องจากผู้ที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้องจะมีน้ำในท้อง และกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง การยกของหนักจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่ายจึงมีคำแนะนำดังนี้
* คำนึงถึงน้ำหนักที่จะยกว่าหนักไปหรือไม่
* ให้ยกของใกล้ตัวมากที่สุด
* เวลาจะยกของให้กางขาออก เก้าเท้าไปข้างหน้าหนึ่งเท้า
* ให้ย่อเข่าแทนการก้ม
* อย่ายกของจากที่ชั้นที่สูง
* อย่ายกของและบิดเอว
การเปลี่ยนไต
คือการนำไตที่ไม่เป็นโรคมาผ่าตัดให้กับคนที่เป็นโรคไตวาย วิธีการได้มา อาจจะนำจากผู้ป่วยที่สมองตายแล้ว หรือจากการบริจาคของญาติ และเพื่อน ก่อนการเปลี่ยนไตแพทย์จะต้องตรวจเลือดและเนื้อเยื่อว่าเข้ากับผู้ป่วยหรือไม่เพื่อป้องกันการปฏิเสธเนื้อเยื่อ หลังการเปลี่ยนไตแพทย์จะให้ยากดภูมิรับประทาน
ที่มา: siamhealth.net
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น